👄1.
ก่อนอื่นเลยต้องดูว่าเป็นเครื่องสำอางเถื่อนมั๊ย
ดูจากเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ปัจจุบันนี้
เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานควรได้การรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) ดังนั้นเวลาซื้อควรดูเครื่องหมาย อย.บนฉลากซะก่อน ถ้าไม่มีอย่าซื้อเด็ดขาด
เพราะเครื่องสำอางที่ไม่ผ่านการตรวจสอบอาจเป็นเครื่องสำอางเถื่อน
และผสมสารต้องห้ามที่มีพิษต่อร่างกาย คงไม่คุ้มกันแน่…กับปัญหาหน้าพัง!! ถ้าคิดจะซื้อมาใช้
👄2. ให้ดูวันหมดอายุ ส่วนผสม
ชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่อยู่ หรือบริษัทผู้นำเข้า
– เริ่มดูจากวันหมดอายุและวันผลิตที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
โดยทั่วไปเครื่องสำอางมีอายุหลังการผลิตนานถึง 3-5 ปีเชียวล่ะ
แต่นั่นคืออายุของประสิทธิภาพเครื่องสำอางขณะที่คุณยังไม่เปิดใช้
แต่ถ้าหากเปิดใช้แล้วมันก็จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้นและมีอายุการใช้งานน้อยลง
(ดูเพิ่มเติมที่: อายุเครื่องสำอางแต่ละชนิดที่เปิดใช้แล้ว) ดังนั้น
เราควรเขียนวัน/เดือน/ปี ที่เราเปิดใช้ครั้งแรกเอาไว้ที่เครื่องสำอาง
เพื่อจะได้เตือนความจำ และเช็คอายุเครื่องสำอางได้ง่ายขึ้น
– จากนั้นก็มาดูส่วนผสม
ซึ่งจะบอกได้ว่าในเครื่องสำอางที่เรากำลังจะควักเงินซื้อนั้น
มีส่วนผสมที่เราแพ้หรือไม่ เช่น บางคนอาจแพ้เครื่องสำอางที่มีน้ำหอม หรือแอลกอฮอล์
เป็นต้น
– ชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่อยู่
หรือบริษัทผู้นำเข้า เป็นอีกส่วนที่ควรใส่ใจ
เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าของผลิตภัณฑ์
ในกรณีที่มีปัญหาในการใช้ผลิตภัณฑ์ หรือเกิดอันตรายจากเครื่องสำอางนั้น
จะได้โทรไปสอบถามหรือร้องเรียนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้
👄3.
ต้องให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากวิธีใช้
– ต้องศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียด
เพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และปลอดภัย ว่าควรใช้ในปริมาณเท่าใด
กี่ครั้งต่อวัน ใช้ที่จุดไหนของร่างกาย เพื่อให้ใช้ได้ถูกต้อง เช่น
ครีมบำรุงผิวหน้าบางชนิดต้องใช้ทาก่อนนอน เพื่อมิให้ถูกแสงแดด
เพราะแสงแดดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น
หากไม่ศึกษาวิธีใช้ให้ถี่ถ้วน ทาครีมนี้ตามความพอใจ หากทาตอนกลางวันแล้วถูกแสงแดด
ก็อาจจะกลับกลายเป็นผลเสีย เพราะใช้ไม่ถูกวิธีนั่นเอง
– สำหรับคนที่แพ้ง่าย แนะนำว่า
ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
ซึ่งเครื่องสำอางหลายยี่ห้อจากต่างประเทศ จะมีระบุชัดอยู่ในบรรจุภัณฑ์ว่า “Alcohol
Free” แปลว่าในเครื่องสำอางชิ้นนั้นปราศจากแอลกอฮฮล์
แต่เครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีแจ้งแบบนี้
👄4.
ระมัดระวังข้อควรระวังหรือคำเตือนบนฉลาก
– เครื่องสำอางบางชนิดจะต้องแสดงคำเตือนที่ฉลากด้วย
แสดงว่าต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น ควรศึกษาคำเตือน ให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน
และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
– เครื่องสำอางบาง
ประเภทมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย หากผู้บริโภคใช้ไม่ถูกวิธี
กฎหมายจึงมีข้อกำหนดที่เข้มงวดกว่าเครื่องสำอางทั่วไปคือ จัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ
และเครื่องสำอางควบคุม โดยจะต้องมีข้อความแสดงประเภท
ของเครื่องสำอางที่ฉลากอย่างชัดเจน
ผู้บริโภคควรใช้เครื่องสำอางเหล่านี้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
👄5.
ทดสอบการแพ้เครื่องสำอางก่อนตัดสินใจซื้อ
มีเครื่องสำอางหลายประเภทที่แม้จะเป็นยี่ห้อดียี่ห้อดัง มีตรารับรองมาตรฐาน
ก็อาจไม่ถูกกับผิวของคุณได้ เพราะผิวของแต่ละคนก็แพ้เครื่องสำอางแตกต่างกัน
ดังนั้น คุณจึงควรทดสอบก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากการดูที่ส่วนผสมแล้ว
คุณควรทดสอบการแพ้เครื่องสำอางด้วยตัวเองด้วยวิธีง่ายๆและเป็นวิธีที่ถูกต้องคือ
ให้นำเครื่องสำอางที่ต้องการจะซื้อ มาป้าย ฉีด ยา หรือทา ลงบริเวณผิวเนื้ออ่อนๆ
อย่างหลังใบหูหรือท้องแขน อย่างน้อยที่สุดจะต้องใช้เวลา 20 – 30 นาที ถ้าหากเกิดอาการแพ้ ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีปฏิกิริยา เช่น
เกิดรอยแดง ผื่น หรือรู้สึกระคายเคือง ดังนั้น หากจะเทสต์จริงๆ ไปขอเทสต์ก่อน (เพื่อทิ้งระยะให้สารเคมีทำปฏิกิริยาสักนิด)
จากนั้นไปเดินดูของอื่นๆ จนจะกลับ หากผิวไม่แพ้จึงค่อยกลับไปซื้อค่ะ
👄6.
ซื้อเครื่องสำอางจากแหล่งขายที่เชื่อถือได้
ไม่ว่าจะเป็นที่เคาน์เตอร์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านค้าต่างๆ
รวมถึงตลาดนัด
ในปัจจุบันเรายังพบช่องทางการขายเครื่องสำอางออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย
อย่างไรก็ตาม ในความหลากหลายของแหล่งซื้อขายนี้ย่อมมีทั้งดีและไม่ดี
คุณก็ควรพิจารณาแหล่งซื้อขายที่มีความน่าเชื่อถือ
มีสถานที่ตั้งและช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน
มีบริการที่ดีทั้งในระหว่างการขายและหลังการขาย
และแน่นอนว่าต้องขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแท้ และเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์นั้นๆ
อย่างถูกต้อง ซึ่งวิธีพิจารณาต่างๆ
เหล่านี้จะช่วยให้เราห่างไกลจากโอกาสเสี่ยงที่เราจะเจอผลิตภัณฑ์ปลอม ไม่ได้มาตรฐาน
เกิดการแพ้ และไม่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้
👀นอกจากนี้
สาวๆควรรู้จักกับความหมายของเครื่องสำอางตามกฏหมายก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
เพื่อที่จะได้ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง พวกเครื่องสำอางเถื่อนและปลอมทั้งหลาย
ดังนี้คือ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 โดยมีคำจำกัดความ ตามกฎหมายว่า
หมายถึง “วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ
หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่ง ส่วนใดของร่างกายมนุษย์ เพื่อความสะอาด
ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นผิวต่างๆ
แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย”
👉👉👉พอจะสรุปอย่างง่ายๆ ได้ว่า
“เครื่องสำอางต้องเป็น
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ เพื่อความสะอาด และความสวยงาม เท่านั้น
ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินกว่านี้ เช่น อ้างว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาโรค
ป้องกันโรค หรือมีผลต่อโครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ต่างๆของร่างกายอันเป็น
สรรพคุณทางยา ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องจัดเป็นยา ไม่ใช่เครื่องสำอาง”
💨💨💨ตัวอย่างเช่น โลชั่นปลูกผม
ครีมเสริมสร้างทรวงอก ครีมลดไขมัน สบู่ลดความอ้วน โลชั่นกระชับจุดซ่อนเร้น
ครีมฆ่าเชื้อโรค ลดอาการผิวหนังอักเสบ แก้คัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้
มีการแสดงสรรพคุณทางยา ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาและปฎิบัติตามพระราชบัญญัติยาฯที่มีความเข้มงวดกว่าพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง
ฯค่ะ